Archive | กรกฎาคม, 2016

ฮอร์โมนแกนกล้วย ช่วยยืดช่อ ต่อรวง หลุดพ้นบ่วงสารเคมี

4 ก.ค.

ในครั้งก่อนได้เผยแพร่เกี่ยวกับฮอร์โมนหัวปลีผ่านทาง facebook ของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ปรากฎว่าก็มีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ที่ไม่อยากจะไปพึ่งพาฮอร์โมนหรือสารเคมีต่างๆ ตามสไตล์ของแต่ละคน
หัวปลีนั้นก็จัดว่าเป็นดอกของพืชชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าดอกไม้ทั้งปวง ดอกที่ใหญ่ก็หมายความถึงมีฮอร์โมนแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบำรุงดอกอยู่มากด้วยเช่นกัน ในช่วงกล้วยเกิดดอกสร้างปลีเราจึงขอหยิบขอยืมฮอร์โมนที่อยู่ในดอกหรือปลีของกล้วย เอาไปให้พืชไร่ไม้ผลอื่นๆ ที่เราปลูกใช้เสียบ้างก่อน โดยเฉพาะในพืชที่กำลังย่ำแย่ขาดแคลนหรือกำลังประสบปัญหาดอกเล็ก ดอกน้อย หลุดร่วง หล่นง่ายเป็นต้น
ในอดีตก็เคยได้ยินท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติแนะนำให้เกษตรกรใช้ยอดอ่อน ดอกของพืชผักต่างๆ เด็ดมารวมกันแล้วหมักเพื่ออาศัยฮอร์โมนจิ๊บเบอร์เรลริคแอซิดจากธรรมชาติ เพื่อนำไปฉีดพ่นให้พืชผักต่างๆ ที่เกษตรกรได้ปลูกอยู่ แต่พอมายุคนี้ได้เห็นฮอร์โมนหัวปลีของท่านอาจารย์สุวัฒน์ ทรัพยะประภาได้ส่งเสริมให้กลุ่มโรงเรียนชาวนาได้ใช้กันก็ถือว่า ยิ่งดีมากขึ้นไปอีก เพราะหาง่ายใช้สะดวก เกษตรกรท่านใดที่ปลูกพืชไร่ไม้ผลแล้วต้องการให้ดอกผลสมบูรณ์ไม่หลุดร่วงหล่นง่ายก็ใช้ฮอร์โมนหัวปลีกันดูนะครับ ส่วนประกอบก็มีเพียงหัวปลี 1 หัวนำมาแบ่งให้ได้ 3 ส่วน หมักกับกากน้ำตาล 1 ส่วน เพิ่มจุลินทรีย์หน่อกล้วย หรือ จุลินทรีย์สัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว, ควาย, แพะ, แกะ, เก้ง, กระจง, ยีราฟ, อูฐ ฯลฯ) 1 ส่วน หมักทิ้งไว้ ประมาณ 1 เดือนก็นำมาใช้งานได้ในอัตรา 10 – 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
แต่วันนี้เราก็จะมาคุยกันต่อในเรื่องฮอร์โมนแกนกล้วยอีกเรื่องหนึ่งนะครับ ฮอร์โมนแกนกล้วยนั้นก็จะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนที่ จิ๊บเบอร์เรลริคแอซิด ที่ทำหน้าที่ในการยืดช่อ ต่อรวง หรือผลของพืชผักผลไม้ต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะข้าวในช่วงฤดูหนาว ที่กระทบหนาวแล้วเกิดอาการหยุดชะงักการเจริญเติบโต ชาวบ้านบางพื้นที่เรียก “โรคจู๋” ก็สามารถใช้ฮอร์โมนแกนกล้วย ร่วมกับ “ไรซ์กรีนพลัส” ผลิตภัณฑ์ต้านความหนาวเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน
แกนกล้วยนี้ก็มิใช่หยวกกล้วยนะครับ เป็นแกนกล้วยที่ตกเครือแล้ว ความจริงสามารถใช้ได้ตั้งงวงของเครือกล้วยลงไป ลอกกาบกล้วยออกให้หมดจนเหลือแต่แกนกล้วยจนถึงงวงของกล้วยที่ตัดเอาหวีออกไปแล้ว ทำเหมือนกันกับกรณีของฮอร์โมนหัวปลีเลยนะครับ คือนำมาสับ บด ตำ ห้ำให้ละเอียด แล้วแบ่งเป็น 3 ส่วน แล้วหมักกับ กากน้ำตาล 1 ส่วน พร้อมด้วยจุลินทรีย์หน่อกล้วย หรือ จุลินทรีย์สัตว์เคี้ยวเอื้อง (สัตว์สี่กระเพาะ) 1 ส่วน แล้วระยะเวลาการหมักก็เหมือนกันคือ 1 เดือน หลังจากนั้นนำน้ำที่หมักมาใช้ผสมฉีดพ่นในอัตรา 10-20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อยืดผลแตง, มะระ, ถั่วฝักยาว ฯลฯ หรือ ยืดช่อ ต่อรวง ได้กับพืชทุกชนิดครับ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com