Archive | เมษายน, 2012

อากาศร้อนแล้ง ปลวกจะเอาแหล่งน้ำจากไหน

30 เม.ย.


ปลวกเป็นสัตว์ที่ก่อความยุ่งยากรำคาญใจอยู่คู่กับมนุษย์มานมนานหลายล้านปี เป็นสัตว์สังคมที่ทำงานกันเป็นทีมด้วยความสามัคคี มีการแบ่งชั้นวรรณะหน้าที่อย่างชัดเจนในการทำงาน ในรังปลวกจะมีทั้งนางพญาทำหน้าที่วางไข่ขยายพันธุ์ มีปลวกทหารทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยปกป้องคุ้มครองอาณาจักร มีปลวกงานดูแลหาอาหารให้แก่มวลสมาชิกปลวก ทำเกษตรหรือเป็นเกษตรกรปลวกคอยดูแลสวนเห็ด ปลูกเห็ดเพื่อให้ช่วยย่อยเศษไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อไว้เป็นเสบียงแหล่งอาหาร เพราะปลวกเป็นสัตว์ที่ชอบกินไม้แต่ไม่มีน้ำย่อยที่สามารถย่อยไม้หรือเซลลูโลส เมื่อไม่มีเซลลูเลสหรือน้ำย่อยจึงต้องพึ่งพาเห็ดให้ทำหน้าที่ช่วยย่อยแทน นอกนั้นปลวกยังมีวรรณะแมลงเม่าที่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์ขยายอาณาจักรไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลกเพื่อรักษาและดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเองให้คงอยู่ต่อไป
การปลูกเห็ดของปลวกจำเป็นจะต้องอาศัยแหล่งน้ำเพื่อให้ความชื้นค่อนข้างมากอีกทั้งน้ำยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตปลวกอีกหลายล้านตัว ดังนั้นน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆสำหรับปลวก แต่ในช่วงที่อากาศร้อนแล้งฝนไม่ตกแหล่งน้ำหายากปลวกก็จะอยู่อาศัยกันอย่างยากลำบาก จึงต้องพยายามดิ้นรนหาแหล่งน้ำจากที่ต่างๆ ปลวกงานจะทยอยช่วยกันอมน้ำนำมาเลี้ยงหมู่มวลสมาชิกและสวนเห็ดที่เพาะไว้ในจอมปลวก โรงแรม รีสอร์ท อาคารบ้านเรือนต่างๆที่ปลูกต้นไม้เพื่อไว้ประดับอาคาร ก็จะมีการรดน้ำพรวนดินให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ และยิ่งมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ถ้าท่อแอร์ที่ระบายน้ำหยดรั่วลงดินหรือดูแลไม่ดีก็จะเป็นแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ให้ปลวก ปลวกก็จะอพยพเข้ามาขนน้ำลำเลียงกลับไปเลี้ยงเห็ดสร้างรัง

ในฟาร์มเห็ดทั่วไปจะมีองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้แก่ปลวกคือมีทั้ง ขี้เลื่อย โรงเรือนไม้ มุงด้วยหลังคาหญ้าแฝก หญ้าคาหรือจาก มีความชื้นจากการรดน้ำเห็ดอยู่เกือบตลอดเวลา ในช่วงหน้าร้อนอากาศแห้ง โรงเรือนเห็ดเหล่านี้จะต้องเพิ่มความเอาใจใส่ดูแลให้เห็ดได้รับความชื้นอยู่เสมอ ยิ่งร้อนแล้งมากก็ต้องรดน้ำให้ความชื้นมากตามไปด้วย วันหนึ่งอาจะมากถึงสามสี่รอบหรือจะอยู่ในสภาพอากาศปรกติธรรมดาอย่างน้อยก็ต้องมีการรดน้ำอย่างน้อยก็สองรอบคือเช้ากับเย็น อากาศร้อนแล้งน้ำน้อยปลวกหากินยากจึงต้องพยายามดินรนขวนขวายหาแหล่งน้ำดังนั้งจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมฟาร์มเห็ดจึงมักมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องปลวกอยู่เสมอ การแก้ปัญหาเรื่องปลวกนี้ก็ทำได้ไม่ยากเพียงนำเชื้อจุลินทรีย์ที่กินปลวกอย่าง “เมธาไรเซียม” นำมาผสมกับขี้เลื่อยหรือขี้กบไสไม้ในอัตรา 1 ก.ก. ต่อขี้เลื่อยหรือขี้กบ 10 ก.ก. พรมน้ำพอชื้นนำไปใส่ในกระบอกไม้ไผ่ที่เลื่อยหั่นเป็นท่อนๆแล้วนำไปกลบฝังรอบโรงเรือนเห็ดหรืออาณาบริเวณที่อยู่อาศัยก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องปลวกให้ทุเลาเบาบางลงได้

คุณมนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

เปรียบเทียบต้นทุนสูตรการผลิตก้อนเชื้อเห็ด เมื่อเติมหินแร่ภูเขาไฟพูมิชซัลเฟอร์ตั้งแต่ตอนเตรียมก้อน

27 เม.ย.


สูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดของเกษตรกรผู้เพาะเห็ดส่วนใหญ่จะมีความหลากหลายไม่ยึดติดตายตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะในแต่ละท้องถิ่นมีสภาพและปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกัน อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรรู้จัดคิดค้นดัดแปลงต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้าเป็นลำดับ (C & D) ไม่จมปลักอยู่กับที่จะช่วยให้ก่อเกิดการพัฒนาการด้านการผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ คนไทยก็จะมีโปรตีนในรูปของเห็ดไว้บริโภคด้วยความเต็มเปี่ยมด้านคุณภาพทางโภชนาการและความปลอดภัยไร้สารพิษ

สูตรการทำก้อนเชื้อโดยปรกติจะใช้ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำละเอียดประมาณ 10 กิโลกรัม ถ้าจะเพิ่มแป้งข้าวเหนียวหรือกระถินป่นก็อาจจะลดรำลงเหลือเพียง 7 – 8 กิโลกรัมแล้วเติมแป้งและกระถินป่นเสริมเข้าไปอีก 2 – 3 กิโลกรัม ใช้ปูนขาวหรือแคลเซียม ประมาณ 2 กิโลกรัม ใช้ดีเกลือหรือแมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม ใช้ยิปซั่มหรือแคลเซียมซัลเฟต 2 กิโลกรัม ภูไมท์ 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทราย 1กิโลกรัม

1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 2.00 บาท = 200.00 บาท
2. รำละเอียด. 10 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 5.00 บาท = 50.00 บาท
3. ปูนขาวหรือแคลเซียม 2 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 4.00 บาท = 8.00 บาท
4. ดีเกลือหรือแมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม. กรัมละ. 0.01 บาท = 2.00 บาท
5. ภูไมท์. 1 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 8.50 บาท = 8.50 บาท
6. ยิปซั่มหรือแคลเซียมซัลเฟต. 2 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 4.00 บาท = 8.00 บาท
4. น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 25.00 บาท = 25.00 บาท
รวม 301.50 บาท

รวมต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตามสูตรดังกล่าวก็จะอยู่ที่ 301.50 บาทต่อวัตถุดิบการผลิตเห็ดทั้งสิ้น 114.2 กิโลกรัม เมื่อนำไปอัดก้อนในขนาด 800 กรัมเราจะได้จำนวนก้อนประมาณ 142 ก้อน ตกเฉลี่ยต้นทุนต่อก้อนอยู่ที่ 2.12 บาท และถ้ามรวมกับค่าพลังงานน้ำมัน แก๊ส ถ่าน ฟืน ถุงพลาสติก จุกสำลี คอขวด กระดาษหนังยางต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อยอาจจะ 1-2 บาทตามแต่ราคาในท้องตลาดของในแต่ละท้องถิ่นก็ถือว่ายังเป็นราคาที่พอรับได้ เมื่อเทียบกับคุณภาพของก้อนเชื้อที่เรียกได้ว่า “จัดเต็ม” ถึงไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสูตรของก้อนเชื้อเห็ดนั้นมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความต้องการของแต่ละปัจเจกบุคคลเพิ่มเติมเสริมแต่งได้ตามใจชอบ แต่ถ้าเราทำพื้นฐานของก้อนเชื้อให้ดีมีคุณภาพเสียแต่เริ่มแรก กระบวนการเพาะเห็ดเราก็อาจไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อฮอร์โมนหรืออาหารเสริมมาฉีดให้สิ้นเปลืองเพิ่มขึ้นง่ายต่อการบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษา

ทีนี้เราลองมาเปรียบเทียบกับการใช้หินแร่ภูเขาไฟกลุ่มตระกูล ซีโอ-พูมิชซัลเฟอร์ กันดูบ้างนะครับว่าจะมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด สูตรการทำก้อนเชื้อเห็ดถุงแบบใช้กลุ่มหินแร่ภูเขาไฟก็ไม่ได้แตกต่างจากสูตรดั้งเดิมเพียงแต่เราจะลดการใช้แคลเซียม ดีเกลือ ภูไมท์และยิปซั่มออกไปเพื่อประหยัดเวลา ขั้นตอนการผลิตและต้นทุนให้ลดลงแต่ยังคงคุณภาพไว้ให้เทียบเท่าจากเดิมหรือมากกว่าโดยอาศัยแหล่งอาหารจากตัว พูมิชซัลเฟอร์ ซึ่งมีแร่ธาตุสารอาหารที่ได้จากแร่ภูเขาไฟที่ผ่านอุณหภูมิความร้อนเป็นล้านๆองศาพร้อมต่อการละลายย่อยสลายกลายเป็นอาหารของเห็ด โดยพูมิชซัลเฟอร์ประกอบไปด้วยแร่ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี โบรอน โมลิดินั่ม ฯลฯ และแร่ธาตุที่สำคัญโดดเด่นในตระกูลหินแร่ภูเขาไฟคือ ซิลิสิค แอซิดหรือซิลิก้านั่นเองที่ช่วยให้เส้นไยเจริญเติบเดินเร็ว แข็งแรง อีกทั้งช่วยเพิ่มอรรถรสที่นุ่มเหนียวพอประมาณที่รู้สึกได้ถึงการขบเคี้ยวเหมือนทานสเต๊กรสนุ่มประมาณนั้นเชียว! เพราะนี่คือประโยชน์ของซิลิก้าที่โดยทั่วไปที่ใช้ในการปลูกพืชจะทำหน้าที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับผนังเซลล์ป้องกันโรคแมลงราไรที่จะเข้ามาทำลายได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในการเพาะเห็ดจึงโดดเด่นมากในเรื่องรสชาติที่สัมผัสได้

1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 2.00 บาท = 200.00 บาท
2. รำละเอียด. 10 กิโลกรัม. กิโลกรัมละ 5.00 บาท = 50.00 บาท
3. พูมิชซัลเฟอร์ 3 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 9.00 บาท = 27.00 บาท
รวม 277.00 บาท

รวมต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตามสูตรดังกล่าวก็จะอยู่ที่ 277บาทต่อวัตถุดิบการผลิตเห็ดทั้งสิ้น 113 กิโลกรัม เมื่อนำไปอัดก้อนในขนาด 800 กรัมเราจะได้จำนวนก้อนประมาณ 141 ก้อน ตกเฉลี่ยต้นทุนต่อก้อนเชื้อเห็ดอยู่ที่ 1.96 บาท เมื่อเทียบกับวิธีแรกก็ถือว่าประหยัดลงมาได้ถึง18% และยังได้ช่วยลดขั้นตอนกระบวนการผลิตไปอีก 4 ขั้นตอน การเตรียมก้อนเช้ือให้เพียบพร้อมไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์พร้อมต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ด ช่วยให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อฮอร์โมนหรืออาหารเสริมเห็ดฉีดพ่น พร้อมทั้งช่วยให้ก้อนเชื้อเห็ดมีคุณภาพหรือสารอาหารเต็มก้อนเต็มประสิทธิภาพเปิดดอกเก็บได้นาน เป็นที่ต้องการของตลาด

คุณมนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ฟาร์มเห็ด คือแหล่งเพาะและเชื้อโรค

26 เม.ย.


ฟาร์มเห็ดหรือโรงเรือนเพาะเห็ดโดยทั่วไป จะมีทั้งก้อนเชื้อขี้เลื่อยเก่าที่หมดอายุกองทิ้งไว้ในบริเวณฟาร์ม ก้อนเชื้อเก่าหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของเชื้อราและจุลินทรีย์หลากหลายชนิด รวมทั้งเชื้ิอราที่เป็นศัตรูเห็ดด้วยเพราะลักษณะอาหารการกินจะมีลักษณะคล้ายๆและไม่ต่างกันมาก สารอาหารที่หลงเหลือตกค้างจากการเพาะเห็ดอันอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่มีการจัดการที่เหมาะสมเชื้อโรคจะสร้างอาณาจักรเจริญเติบโตวนเวียนหลายรอบจนมีสปอร์ตกค้างหมักหมมหลายรุ่นหลายคราวเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหลายชนิดมีทั้งจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการปลูกพืชและจุลินทรีย์ตัวร้ายสำหรับเห็ด

ถ้านำไปบริจาคให้เพื่อนบ้านที่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ไม้ผล เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกก็จะได้ใช้ประโยชน์จากของขี้เลื่อยเหล่านี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะก้อนเชื้อเก่าที่ผ่านการเพาะเห็ดถือว่าเป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับต้นไม้และราเขียวไตรโคเดอร์ม่าศัตรูหมายเลขหนึ่งของเห็ดแต่กลับเป็นมิตรแสนดีกับต้นไม้ที่คอยช่วยป้องกันดูแลมิให้เชื้อโรคเข้าทำลายพืชอีกทั้งช่วยช่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆที่อยู่รอบๆบริเวณทรงพุ่มให้กลายเป็นอาหารของพืชได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังถือว่าเป็นการนำแหล่งเชื้อโรคออกไปจากฟาร์มหรืออาณาบริเวณที่เพาะเห็ดช่วยให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของเช้ื้อราศัตรูเห็ด

ก้อนเชื้อเห็ดเก่าที่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณฟาร์ม ถ้ากองวางอยู่เหนือสายลมที่จะพัดผ่านโรงเรือนก็จะนำพาเอาผงสปอร์ของเชื้อราศัตรูเห็ดติดมาด้วย เนื่องด้วยสปอร์ของเชื้อราเหล่านี้มีขนาดเล็กมากเพียง 2-4 ไมครอน (2-4/1,000 มิลลิเมตร) เท่ากับผงฝุ่นละอองจึงเบาและง่ายต่อการปลิวไปตกตามที่ต่างๆ ถ้าเข้าไปในโรงเรือนเห็ดก็จะสร้างปัญหาเรื่องเชื้อราในโรงเรือนเปิดดอกของเห็ดไม่มีวันจบสิ้น ดูแลแก้ไขปัญหาแล้วก็จะวนกลับมาเป็นใหม่เพราะต้นเหตุของปัญหาอยู่ภายนอกโรงเรือนคือกองของก้อนเชื้อเก่า หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่ออาชีพเพาะเห็ดควรบริหารจัดการก้อนเชื้อเก่า ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ให้ห่างไกลจากโรงเรือน รวมทั้งหมั่นดูแลทำให้โรงเรือนและอาณาบริเวณมีความสะอาดอยู่เสมอๆ ก็เป็นการลดค่าใช้ในการดูแลเห็ดอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน

คุณมนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

หยุดกังวล ! รารากขาวยางพาราป้องกันได้

26 เม.ย.


ปัจจุบันพบโรครากขาวแพร่ระบาดกระจายทั่วไปในสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกด้วย โดยเฉพาะแปลงยางปลูกใหม่ (อายุ 2-3 ปี) ปลูกแทนบนพื้นที่ที่เคยระบาดของโรคดังกล่าวมาก่อนเนื่องจากมีเศษรากยาง เศษตอไม้ที่ฝังอยู่ใต้ดินหลงเหลือในแปลง ซึ่งถ้าหากเกษตรกรกำจัดเศษราก ตอไม้ออกไม่หมดจะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อไปยังต้นปลูกใหม่ได้ โรคชนิดนี้เกิดจากเชื้อรา Rigidoporus lignosus (Klotzsch) Imazeki ซึ่งเป็นเชื้อราชั้นสูงจำพวกเห็ดมักระบาดช่วงฤดูฝน เมื่อรากยางปลูกใหม่ไปสัมผัสกับเชื้อจะทำให้รากติดเชื้อลุกลามเข้าสู่รากแก้ว ทำให้ยืนต้นตาย

เชื้อราชนิดนี้จะแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นข้างเคียงลุกลามต่อไปทั้งในระหว่างต้นและระหว่างแถว นอกจากนี้สปอร์เชื้อรายังแพร่กระจายได้โดยน้ำ ลม แมลง ฯลฯ เข้าทำลายทางบาดแผลส่งผลให้ต้นยางเป็นโรคเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อใหม่ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกยางอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแปลงยางที่เป็นโรครากขาวสังเกตได้ง่ายๆ โดยมีต้นยางจะยืนต้นตายว่างเป็นหย่อมๆ ใบยางเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบางกิ่งจนกระทั่งทั้งทรงพุ่มขอบใบห่อลงเล็กน้อย เมื่อระบบรากถูกทำลายอย่างรุนแรงใบจะเหลืองทั้งต้นแล้วร่วงยืนต้นตาย บริเวณโคนต้น รากจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวค่อนข้างหยาบเจริญปกคลุมบางๆ เส้นใยแก่จะมีสีส้มหรืออาจมีดอกเห็ดขึ้นบริเวณโคนต้นยาง ลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวคล้ายเห็ดหลินจือ หรืออาจพบซ้อนกันหลายแผ่นแต่ไม่มีก้านชูดอก ขอบดอกเห็ดมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนผิวด้านบนและล่างมีสีส้มโดยด้านล่างมีสีเข้มกว่า การป้องกันโรครากขาวที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพสูงสุด คือการกำจัดแหล่งเชื้อโรคออกจากแปลงในช่วงเตรียมแปลงปลูก โดยก่อนปลูกยางใหม่หรือปลูกแทนควรกำจัดเศษรากยางเศษตอไม้ออกจากแปลงเดิมนำไปเผาทิ้ง ไถพลิกหน้าดิน หว่านปูนขาวให้ทั่วทั้งแปลงตากดินไว้ประมาณ 10-20 วันเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ฝังตัวอยู่ในดิน แล้วไถพลิกหน้าดินอีกครั้งคลาดเก็บเศษซากไม้ที่หลงเหลืออยู่ออกให้หมด ก่อนลงปลูกกล้าใหม่ให้นำเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม ผสมพูมิชซัลเฟอร์ 20 กิโลกรัมและปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักอีก 50 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนนำมาผสมกับดินรองก้นหลุมปลูกต้นละ 1 กิโลกรัมปลูกยาง 1-2 เดือน หากพบโรคดังกล่าวในแปลงต้องเร่งจัดการต้นที่เป็นโรคไม่ให้แพร่เชื้อไปยังต้นข้างเคียง ซึ่งสามารถควบคุมโดยการขุดร่องระหว่างต้นที่เป็นโรคกับต้นปกติเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดลุกลามไปยังต้นอื่น จากนั้นให้ตัดต้นกำจัดรากของต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง นำไปเผาทำลายร่วมกับฉีดพ่นด้วยเชื้อไตรโครเดอร์ม่า 100 กรัมต่อ 20 ลิตร รอบบริเวณโคนต้น-ทรงพุ่มทั่วทั้งแปลง ให้ชุ่มโชกเหมือนอาบน้ำ ทุกๆ 15 วันครั้ง นอกจากนี้ต้องหมั่นตรวจสอบต้นยางอย่างสม่ำเสมอ หากมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ “รารากขาวยางพารา” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการประชาสัมพันธ์ของชมรมฯ โทร.02-9861680-2 หรือนักวิชาการชมรมฯ 081-3983128 ,081-6929660 ได้ทุกวัน

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ )

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555 เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

จัดคาราวาน”ผลไม้”เจาะตลาดจีน

26 เม.ย.


นายศุภชัย บานพับทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่นๆ ว่า ในเบื้องต้นที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการของแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2555 ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ผลผลิตผลไม้ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ทั้ง 14 จังหวัด มีจำนวนประมาณ 265,000 ตัน โดยมีผลผลิตส่วนที่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา ชุมพร และนราธิวาส ผลผลิตกว่า 26,000 ตัน วงเงินประมาณ 126 ล้านบาท

นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่ใช้ในแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2555 ประกอบด้วย การรวบรวมและกระจายผลผลิตจากสวนเกษตรกรในพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด โดยการบริหารจัดการผลผลิตของสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะสนับสนุนเงินจ่ายขาด วงเงิน 20 ล้านบาท ตลอดจนการรวบรวมและกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต เพื่อช่วยเร่งกระจายผลไม้ไปยังตลาดปลายทางนอกพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ในช่วงที่ผลผลิตออกมาก โดยให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นผู้กำกับดูแล

“จะมีการจัดคาราวานผลไม้ไทย เพื่อเป็นการระบายผลผลิตออกจากภาคใต้ ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีปลายทางที่ จังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากประเมินแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการผลผลิตสูง นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งจะดำเนินการที่เมืองคุนหมิง และเซี่ยงไฮ้ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายตลาดผลไม้ไทย เนื่องจากเมืองดังกล่าวมีกำลังด้านการซื้อสูง อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ต้องนำเสนอ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบก่อน แล้วจึงเสนอขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก คชก. ต่อไป” นายศุภชัย กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555

http://www.naewna.com/local/4837

เตรียมพร้อมจัด”แรกนาขวัญ”

26 เม.ย.


นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปีนี้ปฏิทินหลวงได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลเป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคล (วันเกษตรกร) อันเป็นพิธีสงฆ์ ประกอบพระราชพิธีในวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับในวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธี คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ในวันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2555 จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทั้งนี้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก โดยกำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี อันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา

นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายศุภชัย บานพับทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวศิริลักษณ์ สมสกุล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ กรมชลประทาน และนางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวสุมาลี จำเริญ นิติกรปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ ฟ้า และ ใส พระโคสำรอง ได้แก่ เทิด และ ทูน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555

http://www.naewna.com/local/4835

พด.มุ่งวิจัยรับโลกเปลี่ยนตั้งเป้า 200 โครงการต่อปี

26 เม.ย.


นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมฯได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ดิน เป็นหนึ่งใน 5 ยุทธศาสตร์หลักที่จะดำเนินการ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เนื่องจากการวิจัยเป็นกระบวนการพัฒนาหรือสร้างภูมิปัญญาใหม่ให้เกิดขึ้น ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคเกษตรและประเทศต่อไป โดยที่ผ่านมากรมฯได้มีผลงานวิจัยและงานวิชาการมากมาย โดยเฉพาะมีการนำเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อขยายผลด้านข้อมูล สมบัติของดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน การวิเคราะห์ดิน ซึ่งสามารถต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่การปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน ตลอดจนตอบสนองความต้องการของเกษตรกร และผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้

แต่ด้วยสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้น งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ดิน จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่สามารถรองรับกับสถานการณ์ รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยเฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต และการจัดสรรสินค้าเกษตร เพื่ออาหารและพลังงานอย่างเหมาะสม พัฒนาการใช้ทรัพยากรการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยส่งเสริมกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมหรือสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยปีละไม่น้อยกว่า 200 โครงการ รวมทั้งสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินไปใช้ได้จริงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ที่มา ; หนังสือพิมพ์ แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555

http://www.naewna.com/local/4834

รังสรรค์ดินเหนียวสู่งานอาชีพชุมชน – เกษตรทั่วไทย

26 เม.ย.


ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรรมจากดินเหนียวงานฝีมือของชาวบ้านวัดท่าสุทธาวาส บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นงานปั้นขนาดเล็กจิ๋วเท่าปลายนิ้วก้อย ทว่าใส่รายละเอียด นับตั้งแต่ ตา จมูก ปาก นิ้วมือ ได้อย่างสวยงามและสมจริง

โดยปั้นเป็นชุดต่าง ๆ ที่สื่อถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และวัฒนธรรมประเพณีไทย อาทิ การละเล่นท้องถิ่นของเด็กไทย เช่น มอญซ่อนผ้า กระโดดเชือก การแสดงดนตรีไทย เช่น วงมโหรีปี่พาทย์ นอกจากนี้ยังมีการปั้นแบบร้อยเรื่องราวตามวรรณคดีไทยเป็นตอน ๆ เช่น ชุด พระอภัยมณี ตอน หนีนางยักษ์มากับเงือก ชุด สังข์ทอง ตอน รจนาเลือกคู่ เป็นต้น รวมทั้งการปั้นรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนมีความสวยงาม น่ารัก และเหมาะต่อการซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญนับเป็นการอนุรักษ์ประดิษฐกรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

“ตุ๊กตาชาววัง” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีหลักฐานที่บันทึกปรากฏสืบต่อกันมาว่า เถ้าแก่กลีบ ข้าราชการฝ่ายในในพระราชสำนัก เป็นผู้ริเริ่มผลิตขึ้น โดยปั้นตุ๊กตาชาววังออกจำหน่ายให้แก่ข้าราชบริพารภายในพระบรมมหาราชวัง ด้วยชาววังสมัยก่อนนิยมซื้อสะสมเป็นของรักของชอบ หรือไว้สำหรับตกแต่งประดับบ้านเรือน แต่ได้สูญหายไปในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากเป็นตุ๊กตาที่ทำยาก บางตัวเล็กเท่าหัวไม้ขีด การปั้นจำต้องอาศัยฝีมือที่ประณีตบรรจงและมีความตั้งใจเป็นอย่างมาก

ตุ๊กตาชาววังได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง โดยฝีมือของชาวบ้านที่หมู่บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2519 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก ทรงพระราชดำริที่จะหาอาชีพเสริมเพื่อเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการทำนา โดยใช้เวลาว่างเรียนรู้และฝึกฝนการทำตุ๊กตาชาววัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์จุลทรรศน์ พยามรานนท์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มาเป็นผู้ฝึกสอนการปั้นตุ๊กตาชาววังให้โดยใช้พื้นที่บริเวณศาลาการเปรียญหลังเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ตำบลบางเสด็จ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีดินเหนียวที่เหมาะสมต่อการใช้ปั้นตุ๊กตา

การปั้นตุ๊กตาชาววังในหมู่บ้านบางเสด็จแห่งนี้ จึงได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามพื้นบ้าน ดินเหนียวที่มีอยู่ตามทุ่งนา มีการพัฒนารูปแบบตุ๊กตาชาววังให้เข้ากับสภาพการณ์ด้านศิลปกรรมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งกรรมวิธีในการปั้นแบบโบราณ ที่เป็นฝีมือชาวบ้าน และสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ชุดตุ๊กตาตามประเพณีนิยมต่าง ๆ เช่น ชุดแต่งงาน ชุดดนตรีไทย การละเล่นไทย การค้าขายในตลาดน้ำ การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการสุ่ม และการเกี่ยวข้าว เป็นต้น

ตุ๊กตาชาววังของไทย จึงนับเป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่คนไทยได้สรรค์สร้างขึ้นมา ที่สามารถบ่งบอกถึงคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาของคนไทยได้อย่างงดงาม สมจริง และน่าสนใจ นับเป็นการสานต่อพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ได้ส่งเสริมงานอาชีพ ตลอดจนสืบสานงานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยให้สร้างชื่อเสียงทั่วโลกต่อไป

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกร ในการส่งเสริมงานอาชีพการปั้นตุ๊กตาดินเหนียวของชาวบางเสด็จ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชาวบ้าน แต่นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กินดีอยู่ดี มีชีวิตแบบพอเพียง คนในชุมชนได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ที่สำคัญนับเป็นการสืบสานนวัตกรรมด้านศิลปะของไทยแท้แต่ดั้งเดิมให้ได้คงอยู่และสืบทอดต่อไปสู่รุ่นลูกหลานอย่างมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555

ข่าวเกษตร

บิ๊กอุยในบ่อพลาสติก – ทิศทางเกษตร

26 เม.ย.


ปัจจุบันการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก กำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากใช้พื้นที่น้อยวัสดุที่ใช้สามารถใช้ได้ต่อเนื่องนานประมาณ 3-5 ปี ช่วยลดปัญหาคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมอันเกิดจากสภาพของพื้นดิน โดยเฉพาะพื้นที่ดินเปรี้ยว

กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประมงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ได้จัดทำโครงการเลี้ยงปลาในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบนำไปดำเนินการเพื่อเป็นอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนขึ้นโดยเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็วเหมาะสมกับกิจกรรมของเด็กนักเรียนในโรงเรียน

การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกนั้นขั้นต้นต้องเลือกทำเลที่เหมาะสมสามารถหาน้ำจืดได้สะดวก ทำงานง่าย มีร่มเงาบ้างเล็กน้อย ขนาดของบ่อพลาสติกสามารถจัดทำได้หลายขนาด ขึ้นอยู่กับพื้นที่และวัสดุ ปกติจะใช้บ่อให้มีความลึกประมาณ 1 เมตร ความกว้าง x ความยาวนิยมใช้ 4×5 เมตร, 5×5 เมตร หรือ 6×5 เมตร ควรเตรียมน้ำให้ได้ความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 7-7.5 โดยเริ่มต้นที่ความลึก 30 เซนติเมตร ปล่อยลูกปลาดุกบิ๊กอุยขนาดประมาณ 2-3 นิ้ว ในอัตรา 30-40 ตัว ต่อตารางเมตร จากนั้นจึงเพิ่มระดับน้ำ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาอาจใช้อาหารเม็ด สำเร็จรูป อาหารปลาสดบดละเอียด หรือ เศษอาหารก็ได้ ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ้าง ถ้าน้ำมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน ปลาจะมีขนาดประมาณ 5-7 ตัวต่อกิโลกรัม อัตรารอด 80-90% สามารถให้ผลผลิตสูงถึง 5-7 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยให้ระดับน้ำในเดือนแรกของการเลี้ยงอยู่ในระดับที่ความลึก 30-40 เซนติเมตร
อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก 2-3 ซม. ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว 15 ซม. ขึ้นไปจะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่นปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่าง ๆ เช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่ เศษเกี๊ยว หรือเศษอาหารต่าง ๆ เท่าที่สามารถหาได้ นำมาบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เมื่อลูกปลาเลี้ยงได้ประมาณ 3-4 เดือนปลาจะมีขนาดประมาณ 200-400 กรัมต่อตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะประมาณ 10-14 ตันต่อพื้นที่
1 ไร่ อัตรารอดตายประมาณ 40-70% เมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ ระดับความลึกของน้ำในบ่อควรมีประมาณ 10-40 ซม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้น ในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับน้ำสูงเป็นประมาณ 50-60 เซนติเมตร หลังจากย่างเข้าเดือนที่สองควรเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น 10 เซนติเมตรต่ออาทิตย์ จนระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1.20-1.50 เมตร การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20% ของน้ำในบ่อ 3 วันครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ
ปลาดุกอุยเป็นปลาน้ำจืด มีกระดูกท้ายทอยยื่นแหลมออกไปลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ลำตัวสั้นป้อมกว่าปลาดุกด้าน ลำตัวมีสีดำปนเหลือง มีจุดขาวเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวขวางลำตัวหลายแถว มีครีบหลังสูงกว่าปลาทั่วไปมาก สามารถเคลื่อนที่บนบกได้เป็นระยะทางสั้น ๆ โดยใช้ครีบช่วย พบได้ในพื้นที่แถบประเทศไทยไปจนถึงเวียดนาม และมีการนำไปเลี้ยงในประเทศจีน, มาเลเซีย, เกาะกวม และฟิลิปปินส์ปลาดุกอุยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยและชาวลาวมากกว่าปลาดุกด้าน เนื่องจากเนื้อมีรสชาติมัน อร่อย มีราคาที่สูงกว่าปลาดุกด้าน.

ที่มา : หนังสือพิมพื เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555

ข่าวเกษตร

สหกรณ์ ขอนแก่นเดินหน้าเชิงรุก

26 เม.ย.


นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีนโยบายในการปรับปรุงระบบการส่งเสริมสหกรณ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่มีอยู่จำกัด เพื่อให้เกิดระบบการทำงานที่มีความชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้ตรงจุด โดยมีการปรับระบบจากหน่วยส่งเสริมเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และกำหนดแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ ในการเข้าไปให้คำแนะนำและช่วยสนับสนุนสหกรณ์นั้น

ปัจจุบัน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการตามระบบการส่งเสริมสหกรณ์ โดยให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ได้มีบทบาท ภารกิจ และหน้าที่ในการเข้าไปให้คำแนะนำ ส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ ประชุมร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ร่วมกับฝ่ายจัดการของสหกรณ์ และหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ เช่น สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ขอนแก่น และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดขอนแก่น โดยได้ชี้แจง ทำความเข้าใจในการดำเนินงานตามระบบการส่งเสริมสหกรณ์ใหม่ เพื่อให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานสนับสนุน เข้าใจในการดำเนินงานตามระบบการส่งเสริมสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำในการวางแผนการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรด้วยกัน

และล่าสุด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 40 คน เข้าไปจัดเตรียมเนื้อหาเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ ร่วมกับสมาชิกสหกรณ์ กรรมการสหกรณ์ และฝ่ายจัดการของสหกรณ์ จำนวน 79 แห่ง โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2555 และในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จะได้นำเนื้อหา ประเด็นความต้องการ ไปส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ตามตารางการปฏิบัติงานที่ได้กำหนดไว้ในปฏิทินการทำงาน ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นจะได้ติดตามและประเมินการดำเนินงานต่อไป แต่เบื้องต้นคาดว่า การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ตามประเด็น เนื้อหา ซึ่งได้จัดทำร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ กรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิกสหกรณ์ จะทำให้การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์เป็นไปอย่างมีเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการของสหกรณ์มากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพื เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555

ข่าวเกษตร