Archive | เมษายน, 2015

มหัศจรรย์แห่งไมคอร์ไรซ่า สร้างเห็ดสร้างอาหาร

30 เม.ย.
ไมคอร์ไรซาเป็นเห็ดรากลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ใต้ดิน โดยจะอาศัยอยู่ตามรากของต้นไม้ แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่อาศัยอยู่กับเซลล์ผิวของรากต้นไม้ ซึ่งเราจะเรียกกลุ่มว่า เอคโตไมคอร์ไรซา (Ectomycorrhiza) ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์ผิวของรากต้นไม้ ซึ่งเราจะเรียกกลุ่มนี้ว่า เอ็นโดไมคอร์ไรซา (Endomycorrhiza) ซึ่งทั้งสองชนิดมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุอาหารของราก ช่วยให้ลำต้นพืชเหี่ยวช้าในสภาวะขาดน้ำ และที่สำคัญมีหลายชนิดที่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ ทั่วโลกพบเห็ดราไมคอร์ไรซาแล้วประมาณ 3,000-5,000 ชนิด หนึ่งในนั้นเป็นเอคโตไมคอร์ไรซา 167 ชนิด แต่ที่น่าดีใจก็คือ…มีรายงานว่าพบเจอเห็ดราดังกล่าวในป่าเมืองไทยแล้วถึง 47 ชนิด อันได้แก่ 1) เห็ดราในวงศ์ Russulaceae: เห็ดไคลหลังเขียว (Russula aeruginea) เห็ดน้ำแป้ง (Russula albida) เห็ดไคลหลังขาว (Russula delica) เห็ดน้ำหมาก(Russula lepida) และเห็ดหาด (Lactarius hygrophoroides) 2) เห็ดราในวงศ์ Boletaceae : เห็ดน้ำผึ้ง (Boletus edulis) วงศ์ Cortinariaceae : เห็ดขี้เถ้า (Cortinarius alboviolaceus) และ 3) เห็ดราในวงศ์ Sclerodermataceae : เห็ดเผาะ (Astraeus hygrometricus)
ไมคอร์ไรซ่าเป็นเห็ดราที่อาศัยอยู่กับรากพืชโดยที่ไม่ทำอันตรายต้นไม้ แต่จะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เซลล์ของรากพืชและเชื้อราจะถ่ายทอดอาหารซึ่งกันและกันได้ ช่วยให้รากพืชสามารถเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับธาตุอาหารจากดิน ซึ่งพื้นที่ที่ว่านี้เกิดจากการแผ่กระจายของเส้นใยที่เจริญอยู่รอบๆรากพืชนั้นเอง ส่งผลให้พืชต้นนั้นๆสามารถดูดซับน้ำ ดูดซับธาตุอาหารได้มากกว่ารากพืชที่ไม่มีไมคอร์ไรซ่า เนื่องจากเส้นใยที่พันอยู่บริเวณรากพืชจะชอนไชลงไปในดิน เพื่อดูดซับธาตุอาหารโดยเฉพาะฟอสฟอรัส ช่วยป้องกันมิให้ฟอสฟอรัสที่ละลายออกมาถูกตรึงกลับไปโดยปฏิกิริยาทางเคมีของดินอีกทางหนึ่ง และยังช่วยให้รากพืชสามารถดูดซับธาตุอาหารอย่าง แคลเซียม เหล็ก สังกะสีฯลฯ จากดินได้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนไมคอร์ไรซ่าที่มีความสำคัญทางการเกษตรและมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์แล้วมี 2 พวก ซึ่งได้แก่ เอคโตไมคอร์ไรซ่า พบมากในไม้ยืนต้น ไม้ป่าฯลฯ อีกพวกคือ วี-เอไมคอร์ไรซ่า ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเอ็นโดไมคอร์ไรซ่า พบในยางนา ผัก ไม้ประดับบางชนิดฯลฯ นอกจากนี้ วี-เอไมคอร์ไรซ่ายังถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่ว มะม่วง ลำไย ทุเรียน สับปะรด มะเขือเทศ ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาแพง

ไมคอร์ไรซ่ามีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้หลายทางด้วยกันพอจะสรุปได้ดังนี้ 1) ช่วยเพิ่มพื้นที่ของผิวรากที่สัมผัสกับดิน ทำให้มีพื้นที่ดูดซับธาตุอาหารมากขึ้น 2) ช่วยให้พืชดูดซับและสะสมธาตุอาหารอย่าง ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน โพแทสเซียม แคลเซียมฯลฯ เก็บไว้ในรากพืชได้นานขึ้น 3) ช่วยในการดูดซับธาตุอาหารจากหินแร่ที่สลายตัวยากหรืออยู่ในรูปที่ถูกตรึงในดินอย่างฟอสฟอรัสให้พืชได้ *** (ในดินที่มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในปริมาณที่ต่ำ ไมคอร์ไรซ่ามีบทบาทมากในการดูดซึมฟอสฟอรัสให้แก่พืช เนื่องจากฟอสฟอรัสจะละลายน้ำได้ดีในช่วง pH ที่เป็นกลาง ในดินที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง ฟอสฟอรัสมักถูกตรึงโดยปฏิยาทางเคมีไปรวมตัวกับเหล็ก อะลูมินั่ม แคลเซียม หรือแมกนีเซียม ทำให้ไม่ละลายน้ำซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อพืช และนอกจากนี้ไมคอร์ไรซ่ายังดูดซึมสารอินทรีย์ต่างๆที่สลายตัวไม่หมดให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้) 4) ไมคอร์ไรซ่าในรากพืชยังทำหน้าที่ป้องกันและยับยั้งการเข้าทำลายรากพืชของโรคพืชต่างๆ 5) ช่วยให้โครงสร้างของดินดีเนื่องจากมีการปลดปล่อยสารบางชนิดอย่าง Polysaccharide และสารเมือกไปกับเส้นใยที่แผ่กระจายทั่วพื้นดิน ก่อให้เกิดการจับตัวของอนุภาคดินใหม่ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารจากดินเนื่องจากการชะล้างของน้ำ หรือพังทะลายของหน้าดิน อีกทั้งช่วยหมุนเวียนและลดการสูญเสียธาตุอาหารในระบบนิเวศน์ได้ 6) ช่วยให้พืชสามารถทนแล้งได้มากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่ผิวรากในการดูดซับน้ำมาก และยังสามารถฟื้นตัวภายหลังการขาดน้ำได้เร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้พืชที่มีไมคอร์ไรซ่าที่รากจึงเจริญเติบโตได้ดีกว่าพืชที่ไม่มีไมคอร์ไรซ่านั่นเอง

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

เสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

ป้องกันกำจัดปลวกในไร่อ้อยด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพปลอดสารพิษ

29 เม.ย.

ในครั้งที่แล้วได้แนะนำการปลูกอ้อยกับเกษตรกรในยามที่พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆราคาตกต่ำแล้ว วันนี้ขอพูดถึงเรื่องโรคและแมลงของอ้อยกันบ้าง แมลงศัตรูอ้อยที่จะกล่าวในวันนี้ก็คือ ปลวก เกษตรกรบางท่านอาจจะสงสัยว่าปลวกเป็นแมลงศัตรูของอ้อยด้วยหรือ….. ปลวกถือเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งของอ้อย แต่จะระบาดเป็นบางพื้นที่ แต่ถ้าเจอแล้วก็ถือเป็นปัญหาที่หนักและแก้ยากเช่นกัน ปลวกเป็นแมลงที่เข้าทำลายอ้อยเป็นครั้งคราวในแหล่งปลูกอ้อยทั่วประเทศ แต่อ้อยจะเป็นพืชที่ปลวกชอบเข้าทำลายมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ การเข้าทำลายของปลวกในแหล่งที่มีการระบาดอยู่เสมอมักทำให้ผลผลิตของอ้อยลดลงถึงครึ่งหนึ่ง การระบาดเข้าทำลายอ้อยรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งติดต่อกันนาน ๆ ซึ่งมีผลทำให้อ้อยที่ถูกทำลายแห้งตายไปทั้งกอ ปลวกสามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะของการเจริญเติบโตของอ้อย โดยเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ท่อนพันธุ์อ้อยตอนปลูก โดยกัดเข้าไปกัดกินอยู่ภายในท่อนพันธุ์ จากด้านหนึ่งจนอาจทะลุอีกด้านหนึ่งเป็นรูกลวง ซึ่งมีผลทำให้อ้อยไม่งอกและแห้งตายไป เกษตรกรจะต้องปลูกอ้อยซ่อมใหม่หรือต้องปลูกใหม่ทั้งแปลง เมื่ออ้อยโตมีลำแล้วปลวกก็กัดเปลือกอ้อยเข้าไปตรงระดับต่ำกว่าผิวดินเล็กน้อย เข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อยโดยทำเป็นโพรงสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โพรงที่เนื้ออ้อยถูกกัดกินไปแล้ว ปลวกก็นำดินไปบรรจุแทนที่เมื่อเข้าทำลายมาก ๆ จะพบลำต้นอ้อยหักล้มลง

วิธีการป้องกันกำจัดแบบปลอดสารพิษ เมื่อเรารู้ว่าพื้นที่ปบลูกอ้อยของเราเป็นพื้นที่ๆมีปลวกอาศัยอยู่ ให้ทำการไถพรวนดินหลายๆครั้งในช่วงที่เตรียมดินปลูกเพื่อให้นกให้มดช่วยกินปลวกที่ถูกไถพรวนขึ้นมา และใช้จุลินทรีย์กำจัดปลวก”เมธาไรเซียม” หว่านหรือผสมน้ำฉีดพ่น (อัตราน้ำ 20 ลิตร + เมธาไรเซียม 50 กรัม) ตอนที่พรวนดินเพื่อให้เชื้อเมธาไรเซียม ลงไปในดินที่ปลวกอาศัยอยู่ ให้จิลินทรีย์เมธาไรเซียม ลงไปจัดการกับปลวกทั้งหลายที่อยู่ในดิน ตั้งแต่ก่อนปลูกอ้อยเลย เป็นการป้องกันกำจัดตั้งแต่แรกเริ่ม และควรฉีดพ่นจุลินทรีย์กำจัดปลวกเมธาไรเซียม เป็นประจำทุกเดือนเพื่อป้องกันปลวกกลับมาทำลายอ้อยอีก

ในกรณีที่พบหรือมีจอมปลวกในแปลงปลูกอ้อย ให้นำเมธาไรเซียม 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร รดหรือราดไปในรังหรือจอมปลวกเลย โดยก่อนราดรด ให้ใช้ไม้ผ่หรือเหล็กแหลมแทงหรือแยง ลงไปในจอมปลวกก่อน เพราะในจอมปลวก 1 จอมจะมีห้องอยู่เป็นหลายสิบห้องเลย ใช้ไม้แทงให้ทะลุทะลวงเข้าไปจนถึงห้องของจอมปลวก จากนั้นค่อยราดรด เมธาไรเซียมลงไป วิธีนี้จะช่วยถอนรากถอนโคนปลวกในไร่อ้อยได้ แต่อย่าลืมว่าปีหน้าฟ้าใหม่มีแมลงเม่ามาก็จะมีปลวกตามมาด้วย เราควรจะใช้วิธีที่กล่าวมาข้างต้นในทุกครั้งที่มีการปลูกอ้อยครั้งต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่นายจตุโชค จันทรภูมี โทร.085-9205846 หรือสอบถามไปที่ฝ่ายวิชาการของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร.02-9861680-2

เขียนและรายงานโดย

นายจตุโชค จันทรภูมี(ผู้เขียน)

บทความเกษตร” เทคนิคการช่วยเพิ่มผลผลิตดอกมะลิแบบชมรมเกษตรปลอดสารพิษ

28 เม.ย.

ดอกมะลิดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์แทนวันแม่ เป็นดอกไม้ที่มีราคาค่อนข้างสูงเป็นอันดับต้นๆของดอกไม้ในประเทศไทย นอกจากเป็นสัญลักษ์แทนวันแม่แล้ว ยังใช้ในการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป หรือสิ่งศักดิ์ต่างๆด้วย หรือนิยมนำมาทำเป็นพวงมาลัยในแขวนไว้ในรถเพราะเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ดังนั้นดอกมะลิจึงเป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปีทำให้ราคาของดอกมะลิไม่ค่อยตก เกษตรกรที่ปลูกมะลิจึงปรารถนาที่จะได้ผลผลิตของดอกมะลิที่ดี ออกดอกตลอดทั้งปี ทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษมีข้อมูลการเพิ่มผลิตให้ดอกมะลิออกดอกเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้สูตรฮอร์โมนอาหารเสริมทางใบ ของเกษตรกรตัวอย่างที่ใช้แล้วทำให้ได้ผลผลิตของดอกมะลิเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

เกษตรกรตัวอย่างของเราในวันนี้คือ ณัฐกฤตา กัญยะมาสา อยู่บ้านเลขที่ 99/8 หมู่10 ต.ดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 67000 มีอาชีพปลูกมะลิมาแล้ว 4 ปี ตอนนี้ปลูกอยู่ราว 500 ต้น เป็นมะลิพันธุ์มะนิลาทั้งหมด ปัญหาที่คุณณัฐกฤตาพบก็คือมะลิให้ผลผลิตน้อยไม่ค่อยมีดอกให้เก็บ ผลผลิตต่อเดือนไม่ถึง 60 กิโลกรัม การดูแลคุณณัฐกฤตาจะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ (15-15-15) เป็นประจำทุกเดือนเหมือนเกษตรกรที่ปลูกมะลิทั่วไปนิยมทำกัน ทางคุณณัฐกฤตาเลยได้หาข้อมูลเกี่ยวกับธาตุอาหารเสริม(ฮอร์โมน) ที่จะมาใส่เพิ่มให้มะลิออกดอกมากขึ้น จนมาเจอเว็บไซต์ของทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษ และได้สนใจตัวไวตาไลเซอร์ที่ช่วยกระตุ้นการออกดอกของพืช เลยได้โทรเข้ามาสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษ(ผู้เขียน) และได้พูดคุยถึงปัญหาของคุณณัฐกฤตาทางผู้เขียนเองได้แนะนำให้คุณณัฐกฤตาใช้ ซิลิโคเทรซ+ไวตาไลเซอร์+ไคโตซาน ซึ่งเป็นกลุ่ม จุลธาตุอาหารเสริม ผสมรวมกันในอัตรา10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรแล้วนำไปฉีดพ่นทุก 7- 10 วัน

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนทางคุณณัฐกฤตาได้โทรเข้ามาให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ของทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษว่าผลผลิตของมะลิเพิ่มขึ้นมามากกว่าครึ่งหลังจากที่ฉีด ซิลิโคเทรซ+ไวตาไลเซอร์+ไคโตซาน ทุก 7 วันแล้วได้ผลผลิตของดอกมะลิประมาณ 100 กิโลกรัมในเดือนแรกที่ได้ทดลองใช้ ทางคุณณัฐกฤตายังบอกอีกว่ามะลิออกดอกเยอะมาก ดอกมะลิมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมด้วย ขั้วดอกก็เหนียวดอกมะลิไม่ร่วงง่าย เป็นที่น่าพึงพอใจของคุณณัฐกฤตาเป็นอย่างมาก ตอนนี้ทางคุณณัฐกฤตาใช้ ซิลิโคเทรซ+ไวตาไลเซอร์+ไคโตซาน เป็นประจำอยู่แล้วผลผลิตที่ได้ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อเดือน แค่เพิ่มค่าใช้จ่ายค่าอาหารเสริมมาเพียงแค่เดือนละ 2,000 บาทเทียบกับผลที่ได้รับกลับมาทางคุณณัฐกฤตาบอกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้มอีกครับ

เกษตรกรที่ปลูกมะลิท่านอื่นๆสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจตุโชค จันทรภูมี(ผู้เขียน) โทร.085-9205846 หรือสอบถามไปที่ฝ่ายวิชาการของทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร02-9861680-2

เขียนและรายงานโดย

จตุโชค จันทรภูมี (นักวิชาการ)

เคล็ดลับและเทคนิคเกษตรปลอดสารพิษ กลุ่ม : เคล็ดลับและเทคนิคการเกษตรปลอดสารพิษ

27 เม.ย.

เรื่องที่ผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าเก้าสิบในวันนี้จะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ของชมรมที่ชื่อว่า ทริปโตฝาจเชื่อว่าท่านสมาชิกของชมรมเกษตรปลอดสารพิษส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดีแต่อาจยังไม่รู้ถึงคุณสมบัติหรือขีดความสามารถที่แท้จริงว่าจุลินทรีย์ทริปโตฝาจสามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้มากกว่าที่คุณคิด
ผู้คนทั่วไปหรือท่านสมาชิกส่วนใหญ่จะทราบแค่ว่าจุลินทรีย์ทริปโตฝาจจะใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวก เพลี้ย เช่นเพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เท่านั้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนาจะรู้จักทริปโตฝาจเป็นอย่างดีเพราะทริปโตฝาจจะเป็นตัวที่แก้ปัญหาเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ระบาดในนาข้าวได้ และทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวนากันอย่างแพร่หลายในระยะ 2-3 ที่ผ่านมานี้ แต่ทว่า จุลินทรีย์ทริปโตฝาจไม่ได้มีขีดความสามารถอยู่แค่กำจัดเพลี้ยกระโดดเพียงเท่านั้น เพราะไม่ได้มีแค่กลุ่มที่ทำนาเท่านั้นที่ใช้ ยังมีเกษตรกรอีกหลายต่อหลายกลุ่มที่นำไปใช้ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลเช่น มะม่วง มะนาว ส้มโอ ลำไย ฝรั่ง ฯลฯที่เจอปัญหาเรื่องเพลี้ยไฟ กลุ่มที่ปลูกมันสำปะหลังที่เจอปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้ง กลุ่มที่ปลูกผักที่เจอปัญหาเรื่องเพลี้ยอ่อนเพลี้ยไฟหมัดกระโดด กลุ่มลูกค้าสมาชิกของชมรมที่ซื้อทริปโตฝาจไปใช้ ทางเจ้าหน้าที่ของเราไม่ได้สักแต่ว่าขายของเพียงอย่างเดียว เราได้เก็บข้อมูลการใช้ของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่ซื้อทริปโตฝาจ ของเราไปใช้ ซึ่งข้อมูลที่เก็บได้เกี่ยวกับผลการใช้จุลินทรีย์ทริปโตฝาจของเกษตรกรแต่ละกลุ่มถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นข้อมูลจริงที่เกษตรกรใช้แล้วได้ผล สามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้จริงและยังได้ข้อมูลผลการใช้ข้างเคียงมาด้วย คือกลุ่มสมาชิกที่ทำนาให้ข้อมูลมาว่าใช้ทริปโตฝาจป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ผลดีเกือบ 100% และผลข้างเคียงคือหนอนต่างๆที่เป็นศัตรูในแปลงนาข้าวก็ตายไปด้วย เช่น หนอนกอ หนอนใบขาว หนอนม้วนใบ ทำให้ตอนนี้กลุ่มสมาชิกที่ทำนา ไม่เพียงใช้ทริปโตฝาจฉีดป้องกันเพลี้ยแล้วยังใช้ฉีดป้องกันหนอนไปพร้อมกันด้วย ส่วนกลุ่มที่ปลูกไม้ผลเช่น มะม่วง มะนาว จะใช้ทริปโตฝาจป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง เป็นหลัก ส่วนข้อมูลผลข้างเคียงก็คือสามารถทำให้หนอนชอนใบตายไปด้วย กลุ่มที่ปลูกผักเช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง(แถบจังหวัดนนทบุรี สุพรรณบุรี) ที่ถือเป็นผักที่มีปัญหาเรื่องหนอนมากที่สุด(หนอนใย หนอนหนังเหนียว) ที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง(หนอน)ทุกๆ 3 วัน แต่ก็ยังป้องกันไม่อยู่ ขนาดใช้ยาที่ราคาแพง(ลิตรละเป็นหมื่น) ชื่อออกญี่ปุ่นๆหน่อยก็ยังไม่อยู่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มสมาชิกเราจะใช้ทริปโตฝาจร่วมกับบีที(จุลินทรีย์ปราบหนอน) ฉีดเป็นประจำทุก 3 วันก็สามารถป้องกันกำจัดหนอนในคะน้าหรือกวางตุ้งได้ และยังมีกลุ่มมะพร้าวน้ำหอมที่มีปัญหาเรื่องด้วงเจาะยอดทำให้มะพร้าวทยอยยืนต้นตาย ก็ลองนำจุลินทรีย์ทริปโตฝาจไปฉีดป้องกันกำจัดก็ได้ผล ด้วงที่อยู่ในยอดมะพร้าวทยอยร่วงลงมาตายที่พื้นให้เห็น

เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ จุลินทรีย์สายพันธุ์ไทยทริปโตฝาจ สามารถป้องกันกำจัดแมลงคัตรูพืชจำพวก เพลี้ย(ทุกชนิด) หนอน(เกือบทุกชนิด) ไรแดง ด้วงหรือแมลงปีกแข็ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นายจตุโชค จันทรภูมี โทร.085-9205846 หรือสอบถามไปที่ฝ่ายวิชาการของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร.02-9861680-2

เขียนและรายงานโดย

นายจตุโชค จันทรภูมี

ทาน”เห็ดสามอย่าง”ล้างสารพิษในร่างกาย

24 เม.ย.

เห็ดเป็นอาหารประเภทผักที่ปราศจากไขมัน มีปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ ทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นกรดอะมิโนกลูตามิค ที่ช่วยในการกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้รสอาหารของลิ้นให้ไวกว่าปกติ อีกทั้งเห็ดยังมีรสชาติและคุณสมบัติคล้ายเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะวิตามินบีรวม (ไรโบฟลาวิน) และไนอาซินที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบการย่อยอาหาร ส่วนเกลือแร่และธาตุอาหารอย่าง ซิลิเนียม ก็จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โพแทสเซียม ช่วยทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนทองแดงก็ช่วยส่งเสริมการทำงานของธาตุเหล็กอีกทีหนึ่ง และนอกจากคุณค่าทางสารอาหารแล้ว เห็ดยังมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ตับ และระบบไหลเวียนของโลหิต ชาวจีนถือว่าเห็ดเป็นยาเย็นมีสรรพคุณครอบจักรวาล และเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเห็ดสามารถช่วยลดไข้ เพิ่มพลังขับอาการร้อนใน แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย ลดระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ลดความดัน ขับปัสสาวะ คลายหงุดหงิด บำรุงเซลล์ประสาท รักษาอาการอัลไซเมอร์ และที่สำคัญสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ เช่นเดียวกัน กับการเปลี่ยนอุปนิสัยให้คนทานอาหารเป็นยามากกว่าจะทานยาเป็นอาหาร อย่างหันมาทานเห็ดเป็นอาหาร “เห็ดสามอย่าง” คือ… เห็ด 3 ชนิด หรือมากกว่า 3 ชนิดขึ้นไป ซึ่งจะเป็นเห็ดสดหรือแห้งก็ได้ นำมาปรุงอาหารแล้วกินทั้งเนื้อเห็ดและน้ำต้มเห็ดไปพร้อมๆกัน ประโยชน์เพื่อล้างสารพิษตกค้างในตับ ช่วยบำรุงตับ และลดอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง เห็ดชนิดเดียวประโยชน์ยังไม่มากเท่ากับเห็ดสามอย่างมารวมกัน หรือมากกว่าสามอย่าง เห็ดที่จะนำมาใช้ต้องเป็นเห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดหูหนูดำ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดโคน เห็ดเข็มทองฯลฯ ควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำปรุงเป็นอาหาร โปรตีนในเห็ดสามอย่างเมื่อนำมารวมกันแล้ว จะได้โปรตีนที่ร่างกายสามารถดูดซับไปใช้งานได้ทันที ง่ายกว่าโปรตีนในเนื้อสัตว์ โปรตีนจากเห็ดจะไปสร้างกรดอะมิโนที่บำรุงสมอง ปรับสมดุลการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย ต้านการเกิดมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย สำหรับคนที่เป็นมะเร็งอยู่แล้วทานได้แต่อย่าคิดหวังอะไรมากจนเกินตัว ควรให้แพทย์รักษานั้นแหละดีที่สุด ควรทานผักผลไม้ชนิดอื่นที่สามารถต้านทานอนุมูลอิสระควบคู่ไปด้วย อย่างเช่น กระเจี๊ยบเขียว ลูกหม่อน ผักใบเขียว ฯลฯ เห็ดสามอย่างควรทำเป็นน้ำซุป ต้มยำ แกงเผ็ด แกงเลียง แกงเปอะฯลฯ แต่ไม่ควรนำเห็ดสามอย่าง สามชนิด มาผัดในน้ำมันหอยหรือน้ำมันพืช แต่ถ้าจะผัดจริงๆให้ใช้กะทิผัดแทนน้ำมัน เพราะกะทิเป็นไขมันที่ละลายน้ำได้ และมีโคเลสเตอรอลฝ่ายดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เสนอติชม สงสัยประการใดติดต่อสอบถามได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร. 02-9861680 -2 ได้ทุกวัน

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ภัยแล้ง หายนะแห่งสงครามปี 2050

23 เม.ย.

ว่ากันว่า…ในอีก 30 กว่าปีที่จะถึงนี้ โลกของเราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมาเป็น 9,000 ล้านคน (อ้างอิงจาก วิกิพิเดียที่ได้ทำการบันทึกไว้http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81 ) และประชาชนคนส่วนใหญ่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์จะอาศัยอยู่ในเมือง เนื่องด้วยความจำเป็นที่เราต้องคืนผืนที่ป่าให้กับธรรมชาติและสัตว์ป่า เพราะในปัจจุบันเราใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และอีกเหตุผลหนึ่งคือสังคมเมืองทุกที่จะมีฝุ่นควัน ละออง มลพิษที่ทำให้บรรยากาศโลกของเราเสื่อมโทรมลง ดังนั้นการที่เรานำเกษตรหรือพืชสีเขียวที่สามารถดูดซับจับสารพิษจากก๊าซของเสียในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆในอากาศ มาไว้ใกล้ๆ กับต้นเหตุได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์กลไกต่างๆที่ก่อให้เกิดกำเนิดมลภาวะด้วยการปลดปล่อยออกมาในรูปของเสีย ก็จะถูกพืชสีเขียวที่ย้ายมาเพาะปลูกกันในเมืองทำการดูดซับกำจัดให้ลดน้อยถอยลงหมดสิ้นไปอย่างเช่น ไอเสียรถยนต์ ฝุ่น ควัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถมยังเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่ง (logistics) จากนอกเมืองที่ห่างไกลออกไปอีกต่างหาก เพราะผู้คนชนส่วนใหญ่นั้นจะอาศัยอยู่ในเมืองด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่

ด้วยเหตุนี้นี่เอง จึงเกิดนวัตกรรมเริ่มต้นทางด้านการทำเกษตรแนวดิ่ง (vertical Forest) เกษตรในสังคมเมือง (Urban Forest) อีกรูปแบบหนึ่งตามทฤษฎีความเชื่อของท่าน ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกแนวคิดของการเกษตรกรรมบนอาคารสูง เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์อยู่บนดาดฟ้าหลังคาตึก ปลูกพืชริมระเบียงที่ตึกหรืออาคารนั้นๆสามารถหมุนรับแสงและรับพลังงานลมให้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ 180 องศา เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา ปลูกผักในอาคาร มีการ ใช้หลอด LED ทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์ พืชก็สามารถที่จะเจริญเติบโตได้เกือบตลอดฤดูกาล ซึ่งท่าน ศาสตราจารย์ Dickson Despommier มีความเชื่อเหลือเกินว่าการเกษตรแบบใหม่นี้คือทางรอดของมนุษยชาติ โดยท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า “อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคนไปเป็น 9.5 พันล้าน แต่ตอนนี้เรากลับใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเกษตรไปแล้วถึง 80% เลยครับ ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อถึงตอนนั้น การเกษตรแบบเดิมจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้อย่างไร” จะอย่างไรก็ตามความคิดนี้ก็ถือเป็นต้นแบบหรือแนวความคิด ที่ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นเมืองเกษตรแบบนี้ในไม่อีกกี่สิบปีข้างนี้นี้ก็ได้นะครับ

จากที่โลกของเรามีประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในทุกขณะ แต่ประสิทธิภาพการเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารเกือบทั่วโลกในปัจจุบันเสื่อมถอยน้อยลง ด้วยสาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ ปัญหาจากภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอลณีโญ ลานิณญา สึนามิ หิมะ แม่คะนิ้ง น้ำท่วม ความหนาวเย็น โลกร้อนจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โรคแมลงศัตรูพืชระบาด และที่สำคัญมากๆ ก็คือ ปัญหาเรื่องความ “แห้งแล้ง” ที่จะทำให้ศักยภาพในการเพาะปลูกหรือผลิตอาหารป้อนชาวโลกดูมืดมน โดยเฉพาะในบ้านเรานั้นภัยแล้งถือเป็นภัยที่คุกคามบั่นทอนศักยภาพการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตของภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสาระบบของประเทศนี้มีมากกว่าค่อนประเทศ

เราคงลืมกันไปแล้วว่าบรรพชนคนของเรานั้นเก่งกาจเรื่องเกษตรเป็นที่สุด พ่อหลวงของเราก็สอนให้เราทำเกษตร แต่ท่านๆ คงไม่ทราบว่าเกษตรนั้นต้องใช้ “น้ำ” นะครับที่เป็นปัจจัยในการเพาะปลูก แต่ทำไมเรายังไม่มีแผนการบริหารจัดการน้ำที่มากเพียงพอต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม เรายังไม่มีเขื่อนกักเก็บสำรองน้ำที่เพียงพอ เพียงเพราะเราไปมองป่าไม้เป็นเงินตรา ให้มูลค่าในทางมายาดั่งทองคำ ไม่สามารถปรับเปลี่ยน ปรับปรุง แก้ไข ย้ายสถานที่ จึงทำให้เหตุผลที่จะปลูกป่าผืนใหม่ใช้แทนป่าผืนเก่าไม่บรรลุผล จนทำให้ปัญหาการสร้างเขื่อนหรือแก้มลิงในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อกักเก็บน้ำมีน้อยเกินไปไม่เพียงพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งสามารถนำพาประเทศของเราให้อุดมสมบูรณ์ต่อไปในอนาคตได้

ป่าต้นน้ำในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เพราะมีแต่พืชไร่อย่าง อ้อย ข้าวโพด ข้าวไร่เสียเป็นส่วนมาก พืชไร่เหล่านี้มีรากที่ชอนไชลงสู่ผิวดินได้แค่เพียงระดับตื้นๆ แตกต่างจากป่าดิบชื้น ป่าเบญจพันธุ์ในยุคเก่าก่อนที่สามารถกักเก็บอุ้มน้ำในชั้นผิวหน้าดินไว้ได้ลึกกว่าเป็นเมตรสองเมตร ดังนั้นจึงทำความสามารถในการกักเก็บน้ำฝนแพ้ผืนดินถิ่นเดิมในอดีต เมื่อฝนตกลงมาชะล้างหน้าดินให้ไหลรี่ปรี่ลงไปสู่เขื่อนอย่างรวดเร็ว จนระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นเกินความสามารถในการกักเก็บทำให้ต้องรีบระบายถ่ายเทปล่อยลงสู่ท้องทะเลก่อนเวลาอันควร เป็นสาเหตุทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูกในคราวที่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงฤดูทำนาปรัง ฤดูแล้ง เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องสั่งห้ามปล่อยน้ำทำนาดังที่เราๆ ท่านๆได้ทราบกันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง

ถึงแม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่สามารถขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ทดแทนได้ ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดปัญหานะครับ ถ้าแหล่งน้ำใต้ดินถูกดูดถูกสูบขึ้นมาคราวละมากๆ และพร้อมๆ กันในคราวเดียว เพราะในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาผู้เขียนก็ได้รับข้อมูลจาก พี่น้องชาวไร่ชาวนาแถวชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี โดยมีปัญหาสูบน้ำจากบ่อบาดาลจนแห้งแล้วเกิดปัญหาสูบไม่ขึ้น เนื่องด้วยทุกแห่งหนตำบลในจังหวัดนั้นๆ พี่น้องเกษตรกรชาวนาต่างก็ต้องการสูบและวิดน้ำเพื่อทำนาด้วยกันทั้งนั้น จึงเกิดปัญหาบ่อปั้มน้ำแขวน (คือระดับน้ำแห้งขอดลดต่ำกว่าปลายท่อที่ยัดใส่ลงไป เพราะแหล่งน้ำซับตรงบริเวณนั้นเหือดแห้ง) นี่แหละครับความน่ากลัวเบื้องต้นที่ชาวไร่ชาวนาได้ผ่านพบประสบเจอมาแล้ว ซึ่งก็ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อที่จะหารายได้เลี้ยงปากท้องดูแลบุตรหลานในครอบครัวให้มีชีวิตต่อไป (เราขาดเขื่อนที่มากเพียงพอ ที่จะใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองนั่นเองครับ)

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือตนเองกันไปก่อน ดังพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้กล่าวไว้ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน นั่นก็คือการช่วยเหลือตนเองก่อนด้วยการทำ “สระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัว” ของตนเอง ทำแบบของใครของมัน เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกหน้าเขื่อน หรือรองรับน้ำจากเขื่อนที่เขาอาจจะปล่อยให้ลงมาก่อนกำหนด แล้วเราก็ไขเข้าสู่สระน้ำส่วนตัวของเรา ก่อนที่มันจะไหลทิ้งหายลงไปในทะเลเสียหมด ช่องทางนี้ถือเป็นช่องทางที่พี่น้องเกษตรกรควรจะต้องเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะอย่างไรเสียในอนาคตอันใกล้นี้คงจะต้องมีปัญหาเรื่องนี้อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประเมินว่า โลกมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 60% จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้คนที่จะเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ.2050 ถือเป็นเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะมีทั้งข้อจำกัดของพื้นที่เพาะปลูก เทคโนโลยี นวัตกรรม การใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง รวมถึงแหล่งน้ำและข้อจำกัดของภัยธรรมชาติที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยนะครับ เพื่อที่จะให้มีการผลิตอาหารที่เพียงพอต่อประชากรโลกซึ่งจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 9,000 หรือ 10,000 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ ต้นทุนการผลิตและราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังนี้แล้วท่านๆพอจะเห็นกันหรือยังล่ะครับว่าสงครามที่ผมได้จั่วหัวไว้นั้น “มันคือสงครามน้ำและอาหาร” ที่ไม่น่าจะเกินความจริงและกำลังย่างกรายใกล้เข้ามาถึงพวกเราในทุกๆขณะ หรือจะรอจนกว่าท่านจะมีอาหารมื้อสุดท้ายตกถึงท้องเสียก่อน…..ท่านๆจึงจะเข้าใจ

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

เสียงลอดผ่านมุมจาก : อุปสรรค ความสำเร็จ มีไว้ให้คนทำงาน

22 เม.ย.

ตลาดมีความต้องการจริงอยู่ แต่เราทำตามที่ตลาดต้องการได้ไหม? หากขาดกำลังทรัพย์ กำลังคน ทำคนเดียวมันก็เหนื่อย ไหนจะทำโรงเรือน ไหนจะอัดก้อน นึ่งก้อนใส่เชื้อเห็ด เข้าโรงเรือนบ่ม เชื้อเดินเต็มก็เปิดดอกรดน้ำ ไหนจะต้องคอยฉีดพ่นยาป้องกันไร รา หนอน แมลงหวี่ฯลฯศัตรูเห็ด แล้วไหนจะต้องคอยเก็บดอกเห็ด เก็บแล้วต้องตัดแต่งแพ็คใส่ถุง แรกๆเริ่มต้นก็ไม่มีตลาดต้องคอยโฆษณาขาย ยิ่งหน้าฝนเห็ดป่าก็ออกมาตีตลาดขายแพงไม่ได้ อีกไหนจะค่าวัสดุที่แพงขึ้น ขี้เลื่อยก็แพง ถุงบรรจุก้อนก็แพง ยิ่งช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงร้อนขึ้น ฝนตกบ้างไม่ตกบ้าง ช่วงแรกๆเปิดก้อนใหม่ดอกเห็ดก็ออกดี ย่างเข้ารุ่นสอง สาม ดอกก็เริ่มน้อยลงเหลือวันหนึ่งๆ ไม่ถึง 5 กิโล บางวันเหลือแค่กิโลเดียวก็มี เงินขายเห็ดทุกบาททุกสตางค์ที่ได้ก็ต้องใช้ซื้อข้าว เติมเงินโทรศัพท์ เติมน้ำมันรถ เพื่อดำรงชีวิตไปวันๆ บอกได้คำเดียวว่าท้อ บ้างครั้งก็เจอเพื่อนบ้านล้อ…เอ็งจบตั้ง ป.ตรี ทำไม…ไม่ไปทำงานในห้องแอร์เย็นๆเดือนละหมื่น สองหมื่น นั่งๆเดินๆคอยกระดิกนิ้วสั่งงาน ใช้แค่สมองอย่างเดียวไม่ต้องเหนื่อย..กาย..

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะคิดทุกคนที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม ก็ต้องเคยเจอเหตุการณ์ อุปสรรคเหมือนๆกัน เค้ากล่าวกันว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องเจออุปสรรคมาก่อนเสมอ ยิ่งถ้าคนใดไม่เคยเจออุปสรรคก็แสดงว่าคนนั้นไม่เคยทำงาน โอกาสจะประสบความสำเร็จก็มีน้อย หรือไม่มีเลย ดังข้างต้นที่ว่า…เห็ดไม่ออกดอกเพราะอากาศร้อน ฝนตกน้อย ถึงแม้บางคนคิดว่าอุปสรรคแค่นี้เป็นเรื่องเล็กๆ ขี้ปะติ๋ว แก้ไม่แก้ค่าเท่าเดิม อุปสรรคที่ว่า…ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อไป แม้ว่าอุปสรรคนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ก็ควรหาวิธีแก้ แก้ไม่ได้ก็ถามผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ฯลฯ อย่างอากาศร้อนเห็ดออกดอก หรือจะออกก็ออกน้อย กะปริด กะปรอย ส่วนใหญ่เกิดจากอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เส้นใยน็อคไม่เดิน แห้งตาย ยิ่งเป็นเห็ดนางฟ้า,เห็ดภูฐาน,เห็ดนางรมฮังการียิ่งแล้วใหญ่ เพราะเห็ดจำพวกนี้ชอบอากาศเย็นชื้น ไม่ร้อนมาก อุณหภูมิสบายๆ 26-30 องศาเซลเซียส ความชื้นประมาณ 80-90% ยิ่งปล่อยให้ร้อนโดยไม่แก้ไขหรือป้องกันใดๆเลย ก็อาจทำให้เห็ดหยุดการเจริญเติบโต หน้าก้อนแห้งแข็งเส้นใยตายแบบถาวร

ซึ่งผู้ที่เพาะเห็ดเป็นอาชีพมายาวนานจะทราบกันดีว่า… หน้าร้อนเห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐานจะให้ผลผลิตน้อย ไม่ค่อยทำกันแต่จะถือโอกาสเว้นระยะ พักโรงไว้ทำช่วงต้นฝนเนื่องจากอากาศจะเริ่มเย็นลง หรือถ้าทำก็ลดน้อยลงเพราะง่ายต่อการดูแล สำหรับเกษตรกรรายใหม่ๆก่อนเพาะเห็ดควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนว่า… เห็ดอะไรควรเพาะช่วงไหน? หรือเห็ดอะไรไม่ควรเพาะ อย่าง…หน้าร้อนควรเพาะเห็ดขอนเพราะเนื่องจากเป็นเห็ดที่ชอบอากาศร้อน ยิ่งร้อนยิ่งออกดี แต่ไม่ควรเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน ฯลฯ เพราะเป็นเห็ดที่ไม่ชอบอากาศร้อน เมื่อเราทราบว่าอากาศช่วงนี้เหมาะกับเห็ดแต่ละประเภทไหนแล้ว ปัญหาเห็ดไม่ออกดอกให้ผลผลิตน้อยก็หมดไป ติดขัดสงสัยประการใดติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร. 02-986-1680 -2 ได้ทุกวัน

เขียนและรายงานโดย : คุณเอกรินทร์ ช่วยชู (นักวิชาการชมรมฯ)

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

สอบถามเสนอแนะติชมได้ที่ email : thaigreenagro@gmail.com

อ้อย พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ในยามที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

21 เม.ย.

อ้อยถือเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของประเทศไทย รองลงมาจาก ข้าว ยางพารา มันสำประหลัง มีพื้นที่ปลูกอยู่หลายล้านไร่ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย พื้นที่ที่นิยนปลูกจะเป็นพื้นที่มีน้ำน้อย ระบบชลประทานไม่ดี เป็นที่ราบสูง พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสระแก้ว จะเป็นจังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดของประเทศไทย อ้อยเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บผลผลิตได้ 3-4 ปี(3-4 ครั้ง) สามารถตัดรุ่นแรกแล้วจะงอกขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ใส่ปุ๋ยแล้วดูแลต่อก็จะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้อีก ระยะเวลาจากเริ่มปลูกจนถึงตัดใช้ระยะเวลาประมาณ 10-12 เดือน ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 10 – 20 ตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญถ้าพื้นที่ไหนมีน้ำมากก็ได้ผลผลิตอ้อยเยอะหน่อย ส่วนราคารับซื้อของอ้อยอยู่ที่ตันละ 900-1200 บาทขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความหวานของอ้อยด้วย ซึ่งตอนนี้มีโรงงานน้ำตาลที่คอยรับซื้อผลผลิตอ้อยของเกษตรกร เกิดขึ้นมาอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ และตอนนี้พื้นที่ปลูกอ้อยยังข้ามฝังโขงไปปลูกที่ประเทศลาวโดยคนไทยเป็นคนเข้าไปลงทุนเปิดโรงงานน้ำตาลและส่งเสริมให้คนในประเทศลาวปลูกและรับซื้อผลผลิตอีกด้วย

เรื่องต้นทุนการปลูกอ้อยถ้าเทียบกับข้าวแล้ว อ้อยถือว่ามีต้นทุนการปลูกน้อยกว่ามาก เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากมายเหมือนข้าว ใส่ปุ๋ยแค่ 2 ครั้ง ปัญหาเรื่องโรคและแมลงก็ไม่มากเหมือนข้าว ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องโรคที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ เช่นโรคใบจุด ใบขีด เน่าโคน และปัญหาเรื่องแมลงจำพวกหนอน เพลี้ย ด้วง และปลวก เช่น เพลี้ยจักจั่น หนอนกอ ด้วงเจาะลำต้นอ้อย เป็นต้น ต้นทุนในการปลูกส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเตรียมแปลงปลูกอ้อย เช่น ค่าไถ ค่าพันธุ์อ้อย ค่าปุ๋ยหว่านรองพื้น ซึ่งค่าไถก็ลงทุนเตรียนแค่ครั้งแรกแค่ครั้งเดียวก็อยู่ได้แล้ว 3-4 รอบ(3-4 ปี)

อ้อยถือว่าเป็นพืชที่น่าจะนำมาปลูกได้เป็นอย่างดี ในยามที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำในเวลานี้ เกษตรกรที่ปลูกข้าวอยู่ในตอนนี้หรือว่าผู้ที่มีพื้นที่ว่างเปล่าที่คิดจะลงทุนทำการเกษตรอะไรซักอย่าง อ้อยก็ถือเป็นพืชเศรษฐกิจ ทางเลือกอีกทางที่น่าสนใจลงทุนในยามที่ข้าวยากหมากแพง ณ เวลานี้

เขียนและรายงานโดย

นายจตุโชค จันทรภูมี(นักวิชาการ)

ต้านทานการเข้าทำลายของไรไข่ปลาในก้อนเห็ด ด้วยพูมิชซัลเฟอร์

20 เม.ย.

ถ้าพูดถึงแมลงศัตรูเห็ดที่น่ากลัวที่สุดก็น่าจะเป็น ตัวไร ที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเห็ดถึงกับเจ๊งได้เลย ไรเป็นแมลงศัตรูเห็ดที่ตัวเล็กมากต้องใช้แว่นขยายถึงจะมองเห็น มีวงจรชีวิตสั้น ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถระบาดสร้างความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแมลงศัตรูเห็ดประเภทไร ที่พบและเป็นที่รู้จักกันดีของผู้เพาะเห็ดบ้านเราก็คือ ไรไข่ปลา ลักษณะการเข้าทำลายของไรไข่ปลา จะกัดกินเส้นใย(โดยเฉพาะเส้นใยที่กำลังเจริญเติบโต) ทำให้เส้นใยขาดออกจากกันและทำให้เส้นใยหยุดการเจริญเติบโต แล้วเห็ดก้อนนั้นก็จะเสียในที่สุด สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับผู้เพาะเห็ด

แนวทางป้องกันแบบชมรมเกษตรปลอดสารพิษแนะนำให้กับเกษตรกรผู้เพราะเห็ดที่ทำก้อนเชื้อเห็ดเอง ใส่หินแร่ภูเขาไฟที่ชื่อพูมิชซัลเฟอร์ ในตอนที่ผสมอาหารลงไปในก้อนเชื้อเห็ดด้วย หินแร่ภูเขาไฟพูมิชซัลเฟอร์นอกจากจะเป็นอาหารที่ช่วยให้เห็ดเจริญเติบโต ให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพโดยตรงของเห็ดแล้ว พูมิชซัลเฟอร์ยังช่วยทำให้เชื้อของเห็ดและเส้นใยของเห็ด มีความแข็งแรงแข็งแกร่งด้วย ช่วยต้านทานการเข้าทำลายของไรไข่ปลาที่เข้ามากัดกินเชื้อและเส้นใยเห็ดได้เป็นอย่างดีเพราะเมื่อเส้นใยแข็งแกร่งแล้วไรไขปลาไม่สามารถกัดกินเส้นใยของเห็ดได้ ทำให้ลดและต้านทานไรไข่ปลาได้ในตัว

อัตราการผสม หินแร่ภูเขาไฟพูมิชซัลเฟอร์ในก้อนเห็ด ให้ผสมพูมิชซัลเฟอร์ 3 กิโลกรัม ต่อขี้เลื้อย 100 กิโลกรัม ในทุกๆครั้งที่มีการทำก้อนเห็ด แค่นี้ก็ช่วยป้องกันไรไข่ปลาไปได้กว่า 50% แล้ว ที่เหลือก็หมั่นทำความสะอาด ให้โรงเรือนเพาะเห็ดสะอาด ก็ช่วยลดการระบาดที่แหล่งเพราะไรไข่ปลาได้…..

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายจตุโชค จันทรภูมี โทร.085-9205846 หรือสอบถามไปที่ฝ่ายวิชาการของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ โทร.02-9861680-2

เขียนและรายงานโดย

นายจตุโชค จันทรภูมี

ฟาร์มเห็ด อีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ท่านเป็นกอบเป็นกำ

17 เม.ย.

ด้วยความหลากหลายชนิดและคุณค่าทางโภชนาการที่สูงของเห็ด อีกทั้งยังนำไปประกอบเป็นอาหารได้ค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว มังสวิรัติ ขนมขบเคี้ยวฯลฯ ส่งผลทำให้ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 95 ของการผลิตทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท หรือแม้แต่ตลาดส่งออกที่แม้ว่าจะมีเพียงร้อยละ 5 ของการผลิตทั้งหมดก็ตาม มูลค่าการส่งออกเห็ดสดเห็ดแปรรูปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจฟาร์มเห็ดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ ที่ต้องการทำเป็นอาชีพหลัก รองหรือเสริมหารายได้เข้าครอบครับ ด้วยงานวิจัยและพัฒนาประโยชน์ของเห็ดมีอยู่ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ที่สามารถจะต่อยอดธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้อีกมากมาย เช่น ยารักษาโรค เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม ฯลฯ และนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเห็ด มีโอกาสขยายตลาดได้กว้างขึ้น เพิ่มความน่าสนใจให้กับธุรกิจได้มากขึ้นในอนาคต แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่ต้องล้มเลิกกิจการ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ ถึงแม้การเข้าสู่ตลาดค่อนข้างจะง่ายและน่าสนใจก็จริง แต่ผู้ประกอบการก็ต้องศึกษาวิธีการ แนวทางการดำเนินงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน อันดับแรก…ที่จะต้องพิจารณาก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจประเภทนี้คือ ความต้องการของตลาดและแหล่งรับซื้อเห็ด เพื่อที่จะเป็นตัวรองรับผลผลิต และสามารถที่จะกำหนดลักษณะของเห็ดที่จะทำการผลิตออกมาได้ จากนั้นก็ควรศึกษาถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่การคัดเลือกเชื้อ ระบบการผลิตเห็ด จนถึงขั้นตอนในการดูแลรักษา ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้ผู้ประกอบต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อาจจะทางเว็บไซต์ต่างๆ หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานเอกชน หรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่มีอยู่ในจังหวัดนั้นๆ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ (02-9861680 -2) ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มแรกจนเป็นธุรกิจฟาร์มเห็ดที่มีความมั่นคงยั่งยืน