น้ำท่วมภาคใต้ใส่ใจแก้ไขปัญหาพืชเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม

27 ม.ค.

ปีนี้พี่น้องชาวใต้ถือว่าเจอศึกหนักตั้งแต่ต้นปีทีเดียวเชียวนะครับ เพราะประสบกับอุทกภัยภายใต้ปีไก่ทองหลายระรอก ภัยน้ำท่วมครั้งนี้จึงสร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้ากับพี่น้องชาวใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ (ภาคกลางตอนล่าง) ชุมพร สุราษฎร์ธานีเรื่อยลงไปจนถึงพัทลุง ยะลาโน่นทีเดียวเชียวล่ะครับ เรียกว่าแทบจะทั่วทั้งด้ามขวานของไทยก็ว่าได้…จากการติดตามข่าวสารจากช่องทางอื่นๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ แล้วก็น่าเห็นใจ เพราะเกือบทุกพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยได้รับความเดือนร้อนอย่างหนักหนาสาหัส ขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งอาหารการกินและทรัพย์สินมีค่าต่างๆ บางส่วนอันตรธานสูญหายไปกับสายน้ำอย่างยากจะที่ทำใจ…ใครที่พอมีแรงกำลังจะส่งสิ่งของเครื่องใช้ไปช่วยเหลือผ่านตามช่องทางต่างๆ ก็น่าจะดีไม่น้อยนะครับเพราะว่า…เท่าที่ทราบ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงอย่าง หมู หมา กา ไก่ ก็ไม่วายเว้นที่จะถูกผลกระทบจากน้ำท่วม กระแสน้ำได้พัดพาสัตว์ต่างๆเหล่านั้นให้จมน้ำ ล้มหายตายจากลงไปเป็นจำนวนมาก…..นับว่าน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของภาคใต้และประเทศไทยของเราไม่น้อยทีเดียวจะอย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้นี้ก็กินระยะเวลามาพอสมควร และบางพื้นที่ก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว การดูแลแก้ปัญหาหลังน้ำท่วมก็จัดว่าเป็นเรื่องสำคัญด้วยเหมือนกันนะครับ อย่างเช่นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้ผลภาคการเกษตร ในกรณีที่ยังไม่หนักหนาจนเหลือบ่ากว่าแรงที่จะแก้ไขก็ควรที่จะต้องรีบดำเนินการ….พื้นที่สวนยาง สวนปาล์ม ไม้ผลไม้ยืนต้นต่างๆ ที่มีน้ำท่วมขังควรจะหาจุดที่ต่ำที่สุดในพื้นที่แล้วทำการขุดเป็นสระเพื่อให้น้ำไหลไปรวมอยู่ในจุดเดียว หรือทำคันล้อมแล้ววิดระบายน้ำออกให้ได้โดยเร็ว ในกรณีที่ระดับน้ำเริ่มเบาบางแล้วนะครับ แต่ถ้าน้ำยังเยอะอยู่วิธีการนี้ก็จะใช้ไม่ได้ผล…ในส่วนของพื้นที่ที่เริ่มคลี่คลายแล้ว ต้องระมัดระวังอย่ารีบร้อนเข้าไปเหยียบย่ำซ้ำเติมพื้นที่รอบโคนต้นเพราะสาเหตุจากที่รากขาดอากาศหายใจมาเป็นระยะเวลานาน ย่อมอ่อนแอบอบช้ำ ถ้าเรารีบเข้าไปบริหารจัดการ นำคนและเครื่องจักรเข้าไปดูแลแก้ปัญหาในทันที อาจจะทำให้พืชยิ่งได้รับความบอบช้ำมากยิ่งขึ้น จากดินที่ยังเหลวเละ อาจจะส่งผลทำให้รากฉีดขาดแตกหักจนทำให้ต้นพืชล้มตายเสียหายอย่างไม่ควรจะเป็นเมื่อดินเริ่มแห้งเริ่มหมาดก็อาจจะโรยด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกบางๆใต้ทรงพุ่ม เพื่อรากพืชเริ่มฟื้นตัวเขาจะได้ใช้สารอาหารจากปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกไปทีละน้อย ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีทันทีอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองกับระบบราก ซึ่งเรื่องนี้ควรค่อยๆทำในภายหลังจะดีกว่า ส่วนพืชที่ต้นไม่สูงมากนัก การฉีดพ่นให้ปุ๋ยหรืออาหารเสริมทางใบก็จะช่วยทำให้พืชฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกันก็ฝากพี่น้องเกษตรกรนำไปปรับใช้กันดูนะครับ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกยางพาราที่ตอนนี้ราคาก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงกิโลกรัมละ 70 บาทแล้ว เผื่อว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้นำไปดูแลไขปัญหาในสวนยางให้กลับมามีผลผลิตออกขายได้เงินมาใช้พอค่าหยูกค่ายาและเลี้ยงครอบครัวได้โดยเร็วครับ
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ใส่ความเห็น